คำแนะนำจะปรากฏหลังจากพิมพ์คำค้นหา กดลูกศรขึ้นและลงเพื่อรีวิว กด Enter เพื่อเลือก หากเลือกวลี ระบบจะค้นหาด้วยวลีดังกล่าว หากคำแนะนำเป็นลิงค์ เบราว์เซอร์จะนำไปยังหน้าดังกล่าว
กฎ
โฮสต์

การให้เช่าที่พักอย่างมีความรับผิดชอบในประเทศไทย

เข้าร่วมชมรมเจ้าของที่พักท้องถิ่น: อยากสานสัมพันธ์กับเจ้าของที่พักในพื้นที่เพื่อรับคำแนะนำและเคล็ดลับใช่ไหม? ติดต่อไม่ยากเลย ลองเข้าไปหาที่กลุ่มเจ้าของที่พักอย่างเป็นทางการในชุมชนของคุณบน Facebook:

เรารวบรวมบทความไว้ช่วยเจ้าของที่พัก Airbnb ให้คุ้นเคยกับหน้าที่ในการให้เช่าที่พัก รวมถึงสรุปข้อกฎหมาย กฎระเบียบ และแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับเจ้าของที่พัก คุณต้องทำตามแนวปฏิบัติของเรา เช่น มาตรฐานการให้เช่าที่พัก ตลอดจนเคารพกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ที่บังคับใช้กับกรณีของคุณและเมืองที่ให้เช่าที่พัก

เราขอแนะนำให้คุณศึกษาเพิ่มเติม เนื่องจากข้อมูลในบทความนี้ยังไม่ครบถ้วน และไม่ถือเป็นคำแนะนำทางกฎหมายหรือภาษี อีกทั้งเราไม่ได้อัพเดทบทความนี้แบบเรียลไทม์ โปรดตรวจสอบข้อมูลจากแต่ละแหล่งอีกครั้ง จะได้แน่ใจว่ารายละเอียดที่ได้รับยังเป็นข้อมูลล่าสุด

สารบัญ

สุขภาพและความสะอาด

ดูข้อมูลส่วนกลางเกี่ยวกับแนวปฏิบัติพิเศษในการทำความสะอาดได้ที่ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับการให้เช่าที่พัก

คำแนะนำสำคัญเกี่ยวกับการทำความสะอาด

แหล่งข้อมูลทั่วไป

กลับไปด้านบน

ภาษีในประเทศ

ภาษีเป็นเรื่องที่ซับซ้อน ภาษีที่คุณต้องชำระอาจแตกต่างกันไปในแต่ละกรณี จึงขอแนะนำให้ศึกษาเกี่ยวกับภาระภาษีของคุณหรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านภาษี จะได้ทราบข้อมูลที่แน่ชัดยิ่งขึ้น

โดยทั่วไปแล้ว เงินที่ได้รับจากการให้เช่าที่พักใน Airbnb ถือเป็นรายได้ที่ต้องเสียภาษี ซึ่งอาจต้องเสียภาษีเงินได้และภาษีหัก ณ ที่จ่าย นอกจากนี้ บริการให้เช่าที่พักในไทยยังอาจต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือที่เรียกว่า VAT ด้วย คุณมีหน้าที่จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการซึ่งต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หากมีรายได้ต่อปีจากการให้เช่าที่พักตั้งแต่ 1.8 ล้านบาทขึ้นไป

หากเป็นบุคคลธรรมดา คุณอาจต้องแสดงรายได้จากการให้เช่าที่พักในแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี (ภ. ง. ด. 94) ภายในสิ้นเดือนกันยายนของทุกปี และแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี (ภ. ง. ด. 90) ภายในสิ้นเดือนมีนาคมของปีถัดไป รายได้สุทธิประจำปี (รายได้ที่ต้องเสียภาษีหักค่าใช้จ่ายที่นำไปลดหย่อนภาษีและรายการลดหย่อน) ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราก้าวหน้าสูงสุด 35%

นิติบุคคลต้องแสดงรายได้จากการให้เช่าที่พักในแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลครึ่งปี (ภ. ง. ด. 51) และแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลประจำปี (ภ. ง. ด. 50) โดยชำระภาษีให้กรมสรรพากรภายใน 2 เดือนนับจากวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี 6 เดือน และภายใน 150 วันนับจากวันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี 1 ปีตามลำดับ รายได้สุทธิประจำปี (รายได้ที่ต้องเสียภาษีหักค่าใช้จ่ายที่นำไปลดหย่อนภาษี) ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราปกติ 20%

ตรวจสอบข้อมูลจากกรมสรรพากรว่าต้องแสดงรายได้ที่ได้รับจากการให้เช่าที่พักหรือไม่ ตามยอดในสรุปรายได้ของเจ้าของที่พัก และควรหาข้อมูลด้วยว่าคุณได้รับสิทธิอื่นๆ หรือไม่ อย่างเช่น การลดหย่อนภาษีและรายการลดหย่อน นอกจากนี้ กรมสรรพากรยังร่วมมือกับธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับภาระภาษีแก่วิสาหกิจขนาดเล็กและกลางผ่านผลิตภัณฑ์การให้ความรู้ทางภาษี โปรดลองศึกษาดู จะได้เข้าใจข้อกำหนดในการรายงานภาษีของตนเอง และนำมาพัฒนาต่อยอดธุรกิจอย่างยั่งยืนต่อไป

หน้าที่ในการรายงานภาษี

เจ้าของที่พักทุกคนต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบเกี่ยวกับหน้าที่ในการรายงานภาษี รวมถึงการยื่นภาษี

คู่มือภาษีแจกฟรี

เราร่วมมือกับสำนักงานบัญชีอิสระภายนอกในการจัดทำคู่มือภาษีสำหรับแจกฟรี (มีฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษ) โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับข้อมูลภาษีทั่วไปในประเทศไทย เพื่อช่วยให้เจ้าของที่พัก Airbnb เข้าใจภาระผูกพันด้านภาษีที่ตนต้องรับผิดชอบ

กลับไปด้านบน

ระเบียบข้อบังคับและการอนุญาต

ต้องตรวจสอบให้แน่ใจก่อนว่าคุณมีสิทธิให้เช่าที่พัก ประเทศไทยมีกฎหมายและข้อบังคับที่อาจมีผลต่อที่พักของคุณ โปรดศึกษากฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมถึงพระราชบัญญัติโรงแรม พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พระราชบัญญัติการสาธารณสุข และกฎระเบียบระดับท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง

กฎระเบียบที่กล่าวถึงในที่นี้ไม่ได้ครอบคลุมกฎระเบียบทั้งหมด และไม่ควรถือเป็นคำแนะนำทางกฎหมาย ข้อมูลในบทความนี้เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นทั่วไปเกี่ยวกับกฎระเบียบและการอนุญาตให้เช่าที่พัก คุณอาจสอบถามหรือหาข้อมูลเพิ่มเติมจากเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องของหน่วยงานรัฐในท้องถิ่น หรือปรึกษานักกฎหมายในท้องถิ่น เพื่อทำความเข้าใจว่าข้อกำหนดเหล่านี้มีผลกับคุณอย่างไร

การขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม

คุณอาจต้องขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมจากกรมการปกครอง หากที่พักของคุณไม่มีสิทธิได้รับยกเว้น (ดูเพิ่มเติมด้านล่าง) การประกอบธุรกิจโรงแรมโดยไม่มีใบอนุญาตอาจมีโทษทางอาญาทั้งจำคุกและปรับ ตามพระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ. 2547 [ภาษาไทย, ภาษาอังกฤษ] มาตรา 15 และ 59 ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ อาจมีค่าปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่

เพื่อให้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม ที่พักจะต้องมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งรวมถึงที่ตั้งของที่พัก ความพร้อมใช้งานของโทรศัพท์ การดำเนินการตามระบบความปลอดภัย การมีใบอนุญาตก่อสร้างที่ถูกต้อง และอื่นๆ ตามที่กฎหมายกำหนด ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในกฎกระทรวงว่าด้วยกำหนดประเภทและหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. 2551 และ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566

ดูข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการและเอกสารที่จำเป็น รวมถึงหลักฐานในการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมได้ที่นี่

การขอยกเว้นใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม

ตามกฎกระทรวงว่าด้วยกำหนดประเภทและหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. 2566 (ฉบับที่ 2) [ภาษาไทย] ที่พักถือเป็นที่พักที่ไม่ใช่โรงแรมและไม่จำเป็นต้องมีใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม หากที่พักนั้น:

  1. มีไม่เกิน 8 ห้อง
  2. รองรับผู้เข้าพักรวมกันได้ไม่เกิน 30 คน และ
  3. ให้บริการที่พักชั่วคราวเพื่อหารายได้เสริม

หากมีสิทธิได้รับยกเว้น โปรดกรอกแบบฟอร์มที่นี่ เพื่อแจ้งให้นายทะเบียนทราบ

เจ้าของที่พักที่ดำเนินการให้เช่าที่พักภายใต้ข้อยกเว้นนี้ยังคงต้องรายงานกิจกรรมการให้เช่าที่พักต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ หากไม่รายงาน อาจต้องรับโทษและเสียค่าปรับจำนวนมาก

  • หากที่พักอยู่นอกกรุงเทพฯ ให้รายงานกิจกรรมดังกล่าวต่อสำนักงานผู้ว่าราชการจังหวัดผ่านที่ว่าการอำเภอที่ที่พักตั้งอยู่
  • หากที่พักอยู่ในกรุงเทพฯ ให้รายงานต่อกรมการปกครองตามที่อยู่ต่อไปนี้
    • ส่วนรักษาความสงบเรียบร้อย 3
      สำนักการสอบสวนและนิติการ
      กรมการปกครอง
      442 ถนนนครสวรรค์ แขวงสี่แยกมหานาค เขตดุสิต
      กรุงเทพฯ 10300

มาตรฐานอาคารฉบับปรับปรุงสำหรับที่พักที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม

ตามข้อกำหนดเบื้องต้นในการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมในประเทศไทย เจ้าของที่พักอาจต้องปฏิบัติตามมาตรฐานอาคารที่กำหนด ซึ่งรวมถึงกฎกระทรวง 2 ฉบับต่อไปนี้ที่ออกโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย

1. กฎกระทรวงกำหนดลักษณะและระบบความปลอดภัยของอาคารที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. 2566

    ภายใต้กฎกระทรวงนี้ (ซึ่งดูได้ที่นี่) อาคารที่ใช้ในการให้บริการที่พัก (ยกเว้นที่พักที่ไม่ใช่โรงแรมดังที่กล่าวไว้ข้างต้น) จะต้องมีระบบความปลอดภัยตามมาตรฐานที่กำหนด

    เจ้าของที่พักที่อยู่ภายใต้ข้อกำหนดนี้ต้องยื่นแบบ ข.1 (เอกสารคำขออนุญาตก่อสร้างอาคาร ดัดแปลงอาคาร หรือรื้อถอนอาคาร) ไปยังสำนักงานเทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบลในพื้นที่ที่อาคารตั้งอยู่

    2. กฎกระทรวงกำหนดลักษณะอาคารประเภทอื่นที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2566

        ภายใต้กฎกระทรวงนี้ (ซึ่งดูได้ที่นี่) อาคารที่ได้รับใบอนุญาตก่อสร้างก่อนเดือนสิงหาคม 2559 และมีวัตถุประสงค์ในการดัดแปลงจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดเฉพาะของอาคาร เจ้าของที่พักที่ให้เช่าที่พักในอาคารดังกล่าวอาจต้องได้รับใบรับรองการดัดแปลงอาคารจากกรมโยธาธิการและผังเมืองด้วย

        เจ้าของที่พักที่อยู่ภายใต้ข้อกำหนดนี้ต้องส่งแบบฟอร์มนี้ไปยังสำนักงานเทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบลในพื้นที่ที่อาคารตั้งอยู่

        อาคารที่ไม่เกิน 2 ชั้นและมีห้องพักไม่เกิน 10 ห้อง อาจได้รับยกเว้นจากข้อกำหนดบางประการ ซึ่งดูได้ที่นี่ โปรดทราบว่าข้อยกเว้นเหล่านี้มีผลถึงปี 2568 เท่านั้น

        การลงทะเบียนผู้เข้าพักชาวต่างชาติ

        พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 38 กำหนดให้เจ้าของที่พักที่รับชาวต่างชาติเข้าพักอาศัย ต้องแจ้งสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือที่ทำการตรวจคนเข้าเมืองในท้องที่ โดยแจ้งทางออนไลน์หรือยื่นแบบ ตม. 30 โดยต้องแจ้งภายใน 24 ชั่วโมงนับตั้งแต่ผู้เข้าพักชาวต่างชาติมาถึง หากไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดการแจ้งนี้ อาจมีโทษปรับสูงสุด 2,000 บาท โปรดดูรายละเอียดแต่ละขั้นตอน และข้อมูลเพิ่มเติมในเว็บไซต์สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

        เจ้าของที่พักที่เป็นชาวต่างชาติ

        หากคุณไม่ใช่เจ้าของที่พักสัญชาติไทย โปรดศึกษาพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ว่ามีกฎระเบียบเพิ่มเติมที่บังคับใช้กับกรณีของคุณหรือไม่

        ข้อตกลงตามสัญญาและใบอนุญาต

        สัญญา สัญญาเช่า กฎระเบียบการใช้อาคาร กฎระเบียบของคอนโดมิเนียม และกฎของชุมชนบางแห่งมีข้อห้ามไม่ให้เช่าช่วงหรือให้เช่าที่พัก โปรดอ่านสัญญาที่คุณลงนาม หรือสอบถามเจ้าของอาคาร สภาชุมชน หรือหน่วยงานอื่นที่มีอำนาจ

        คุณอาจเพิ่มข้อตกลงในสัญญาหรือสัญญาเช่า โดยระบุให้ชัดเจนถึงประเด็นปัญหา หน้าที่ความรับผิดชอบ และการรับผิดของคู่สัญญาทุกฝ่าย

        โปรดศึกษากฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อปฏิบัติตาม (เช่น พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ซึ่งกำกับดูแลสัญญาเช่า)

        ข้อจำกัดของการจำนอง

        หากที่พักติดจำนองอยู่ (หรือติดสินเชื่อในรูปแบบอื่น) โปรดเช็คกับผู้ให้กู้ว่ามีข้อจำกัดในการให้เช่าช่วงหรือให้เช่าที่พักหรือไม่

        ข้อจำกัดของบ้านสงเคราะห์

        บ้านสงเคราะห์มักมีข้อห้ามไม่ให้เช่าช่วงโดยไม่ได้รับอนุญาต โปรดสอบถามการเคหะหรือสมาคมที่อยู่อาศัย หากคุณอาศัยอยู่ในโครงการบ้านสงเคราะห์และต้องการให้เช่าที่พัก

        ผู้ร่วมอาศัย

        หากคุณพักอยู่กับผู้อื่น ควรทำข้อตกลงอย่างเป็นทางการกับผู้ร่วมอาศัย เพื่อให้ทุกฝ่ายทราบร่วมกันถึงการให้เช่าที่พักและกิจกรรมที่จะเกิดขึ้น คุณอาจจะระบุข้อตกลง เช่น ความถี่ในการให้เช่าที่พัก มารยาทของผู้เข้าพัก การแบ่งรายได้ และอื่นๆ

        การให้เช่าที่พักผิดวัตถุประสงค์

        เราจะดำเนินการตามความเหมาะสม หากพบว่ามีการให้เช่าที่พักที่อาจผิดวัตถุประสงค์ หากต้องติดต่อหน่วยงานท้องถิ่น โปรดศึกษาแนวปฏิบัติในการให้ข้อมูลแก่หน่วยงานท้องถิ่น

        กลับไปด้านบน

        ความปลอดภัย

        เราใส่ใจความปลอดภัยของเจ้าของที่พักและผู้เข้าพัก ผู้เข้าพักจะสบายใจขึ้นหากคุณเตรียมข้อมูลความปลอดภัยไว้ให้ เช่น คำแนะนำสำหรับเหตุฉุกเฉินและอันตรายต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น

        ข้อมูลติดต่อในกรณีฉุกเฉิน

        ระบุรายชื่อติดต่อพร้อมเบอร์โทรเหล่านี้:

        • เหตุฉุกเฉินในพื้นที่ (เช่น แอพของตำรวจนครบาล)
        • เบอร์โทรโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด
        • เบอร์โทรติดต่อของคุณ
        • เบอร์โทรสำรอง (ในกรณีที่ผู้เข้าพักติดต่อคุณไม่ได้)

        ควรแจ้งช่องทางที่ดีที่สุดสำหรับติดต่อคุณ หากเกิดเหตุฉุกเฉินให้ผู้เข้าพักทราบไว้ด้วย หรือจะติดต่อผู้เข้าพักผ่านระบบรับส่งข้อความของ Airbnb ซึ่งเป็นอีกทางเลือกที่ปลอดภัย

        คุณยังพิมพ์คู่มือความปลอดภัยของเจ้าของที่พัก Airbnb ไว้ให้ผู้เข้าพักได้อีกด้วย คู่มือนำเที่ยว (มีเป็นภาษาไทย อังกฤษ และจีน) ระบุเคล็ดลับความปลอดภัยและเบอร์โทรฉุกเฉินในท้องถิ่นที่สำคัญไว้ให้ผู้เข้าพัก

        อุปกรณ์ทางการแพทย์

        จัดเตรียมชุดปฐมพยาบาลไว้และบอกจุดที่เก็บให้ผู้เข้าพักทราบ หมั่นเติมอุปกรณ์ไม่ให้ขาด

        การป้องกันอัคคีภัย

        ถ้ามีอุปกรณ์ที่ใช้แก๊ส ให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านความปลอดภัยที่เกี่ยวข้อง และเช็คให้มั่นใจว่าอุปกรณ์ตรวจจับควันและคาร์บอนมอนอกไซด์ใช้งานได้ตามปกติ เตรียมอุปกรณ์ดับเพลิงไว้และคอยตรวจเช็คสภาพอุปกรณ์อยู่เสมอ

        ทางออก

        ทำเครื่องหมายทางหนีไฟให้ชัดเจน และติดแผนที่เส้นทางหนีไฟให้ผู้เข้าพักเห็นอย่างชัดเจน

        การป้องกันอันตราย

        แนวทางการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้:

        • ตรวจที่พักว่ามีจุดใดบ้างที่ผู้เข้าพักอาจสะดุดหรือหกล้มได้
        • หากพบว่ามีจุดที่เป็นอันตราย ให้นำออกหรือทำเครื่องหมายให้ชัดเจน
        • ซ่อมแซมสายไฟเปลือยให้เรียบร้อย
        • บันไดควรมีราวจับและขึ้นลงได้อย่างปลอดภัย
        • นำสิ่งของที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้เข้าพักออกจากที่พัก หรือล็อคเก็บให้เรียบร้อย

        ความปลอดภัยต่อเด็ก

        ผู้เข้าพักบางรายเดินทางกับเด็ก จึงต้องการทราบว่าที่พักของคุณเหมาะหรือไม่ หากที่พักของคุณไม่เหมาะกับเด็กหรือทารก หรืออาจมีอันตรายกับเด็ก ให้ระบุข้อมูลในหมายเหตุเพิ่มเติมบนหน้ารายละเอียดที่พักของบัญชีผู้ใช้ Airbnb

        การปรับอากาศ

        อุปกรณ์อย่างเตาผิงและเครื่องปรับอากาศจะช่วยให้การเข้าพักสบายยิ่งขึ้น มีอีกหลายวิธีที่จะช่วยให้ผู้เข้าพักสบาย:

        • ดูแลที่พักให้ระบายอากาศได้ดี
        • เตรียมคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีใช้เครื่องทำความร้อนและเครื่องปรับอากาศอย่างปลอดภัย
        • ตรวจสอบว่าเครื่องควบคุมอุณหภูมิทำงานได้ปกติ และบอกให้ผู้เข้าพักรู้ว่าอยู่ตรงไหน
        • บำรุงรักษาเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นประจำ

        จำนวนผู้เข้าพักสูงสุด

        กำหนดจำนวนผู้เข้าพักเพื่อความปลอดภัย หน่วยงานรัฐในพื้นที่ของคุณอาจมีแนวทางปฏิบัติในเรื่องนี้

        กลับไปด้านบน

        มารยาท

        เจ้าของที่พักที่มีความรับผิดชอบมีหน้าที่ช่วยให้ผู้เข้าพักเข้าใจแนวปฏิบัติที่ดีในการมีปฏิสัมพันธ์กับชุมชน การสื่อสารให้ผู้เข้าพักทราบถึงกฎและธรรมเนียมปฏิบัติของท้องถิ่นจะช่วยสร้างประสบการณ์อันยอดเยี่ยมให้กับทุกคน

        กฎของอาคาร

        ถ้าอาคารของคุณมีพื้นที่ส่วนกลางหรือสิ่งอำนวยความสะดวกให้ใช้ร่วมกัน ก็บอกให้ผู้เข้าพักทราบกฎในการใช้สถานที่เหล่านั้น

        กฎของที่พัก

        ระบุกฎของที่พักได้ที่ส่วนหมายเหตุเพิ่มเติมในหน้ารายละเอียดที่พักของบัญชีผู้ใช้ Airbnb ผู้เข้าพักมักชอบเวลาที่คุณแชร์ความคาดหวังกับผู้เข้าพักก่อนล่วงหน้า

        เพื่อนบ้าน

        ควรบอกให้เพื่อนบ้านทราบว่าคุณมีแผนที่ให้เช่าที่พัก เพื่อนบ้านจะได้มีโอกาสบอกคุณด้วยว่า มีข้อกังวลหรือสิ่งใดที่ควรคำนึงถึงหรือไม่

        เสียงรบกวน

        ผู้เข้าพักมีหลายเหตุผลที่เลือกจองที่พักกับ Airbnb เช่น เพื่อเฉลิมฉลองและพักผ่อนวันหยุด บอกผู้เข้าพักให้รู้ล่วงหน้าว่าเสียงแบบไหนจะรบกวนเพื่อนบ้าน เพื่อประสบการณ์ที่ราบรื่นยิ่งขึ้น

        หากคุณกังวลเรื่องเสียงรบกวนเพื่อนบ้าน ก็มีวิธีจำกัดปัญหาเสียงดัง:

        • ใช้นโยบายช่วงเวลางดใช้เสียง
        • ไม่อนุญาตให้สัตว์เลี้ยงเข้าพัก
        • ระบุว่าที่พักของคุณไม่เหมาะกับเด็กเล็กหรือทารก
        • ห้ามจัดปาร์ตี้หรือไม่อนุญาตให้คนที่ไม่ใช่ผู้เข้าพักเข้าที่พัก

        การจอดรถ

        แจ้งกฎการจอดรถในอาคารและย่านที่พักให้ผู้เข้าพักทราบ ตัวอย่างกฎการจอดรถ:

        • ให้จอดเฉพาะในบริเวณจอดที่กำหนดเท่านั้น
        • ห้ามจอดด้านซ้ายของถนนในวันอังคารและวันพฤหัสบดี เพราะจะมีการทำความสะอาดถนน
        • จอดรถบนถนนได้ระหว่างเวลา 19:00 น. - 7:00 น. เท่านั้น

        สัตว์เลี้ยง

        ก่อนอื่น ให้เช็คสัญญาเช่าหรือกฎของอาคารว่าห้ามเลี้ยงสัตว์หรือไม่ หากอนุญาตให้นำสัตว์เลี้ยงมาเข้าพักได้ ควรบอกผู้เข้าพักว่าจะพาสัตว์เลี้ยงไปเดินเล่นหรือทิ้งขยะจากสัตว์เลี้ยงได้ที่ไหน แจ้งแผนสำรองเผื่อไว้ในกรณีที่สัตว์เลี้ยงทำให้เพื่อนบ้านไม่พอใจ เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่รับฝากสัตว์เลี้ยง

        ความเป็นส่วนตัว

        เคารพความเป็นส่วนตัวของผู้เข้าพักเสมอ กฎเกี่ยวกับอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยของเราระบุอย่างชัดเจนถึงสิ่งที่เราคาดหวังจากเจ้าของที่พัก แต่บางสถานที่ก็มีกฎหมายและข้อบังคับเพิ่มเติมที่คุณต้องทราบด้วย

        การสูบบุหรี่

        ถ้าไม่อนุญาตให้สูบบุหรี่ในที่พัก แนะนำให้ติดป้ายเตือนผู้เข้าพักด้วย หากอนุญาตให้สูบบุหรี่ โปรดเตรียมที่เขี่ยบุหรี่ไว้ในบริเวณที่กำหนด

        กลับไปด้านบน

        ประกันภัย

        สอบถามตัวแทนหรือผู้ให้บริการประกันภัยว่ากรณีของคุณมีภาระผูกพัน ข้อจำกัด และความครอบคลุมประเภทใดบ้าง

        การคุ้มครองความเสียหายของเจ้าของที่พักและประกันภัยความรับผิดของเจ้าของที่พัก

        AirCover สำหรับโฮสต์ครอบคลุมการคุ้มครองความเสียหายของเจ้าของที่พักและประกันภัยความรับผิดของเจ้าของที่พัก ซึ่งให้ความคุ้มครองพื้นฐานสำหรับความเสียหายและความรับผิดตามที่กำหนดไว้ ซึ่งไม่ใช่การแทนการประกันภัยของเจ้าของบ้าน ประกันภัยของผู้ให้เช่า หรือคุ้มครองความรับผิดได้ทั้งหมด คุณอาจต้องมีคุณสมบัติตามข้อกำหนดอื่นๆ ของประกันภัยด้วย

        เราขอแนะนำให้เจ้าของที่พักทุกคนอ่านและทำความเข้าใจเงื่อนไขความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัย กรมธรรม์บางแผนอาจไม่ครอบคลุมความเสียหายหรือการสูญหายของทรัพย์สินอันเกิดจากผู้เข้าพักของคุณ

        ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ AirCover สำหรับโฮสต์

        ความรับผิดและความคุ้มครองพื้นฐาน

        ตรวจสอบกรมธรรม์ของเจ้าของบ้านหรือผู้ให้เช่ากับตัวแทนประกันภัยหรือผู้ให้บริการประกันภัยว่าที่พักได้รับความคุ้มครองการรับผิดและทรัพย์สินเพียงพอหรือไม่

        กลับไปด้านบน

        ข้อมูลอื่นๆ เกี่ยวกับการให้เช่าที่พัก

        ไปที่คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการให้เช่าที่พัก เพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการให้เช่าที่พักใน Airbnb

        กลับไปด้านบน

        โปรดทราบว่า Airbnb ไม่มีอำนาจควบคุมการกระทำของเจ้าของที่พักและปฏิเสธความรับผิดในทุกกรณี หากเจ้าของที่พักปฏิบัติตามความรับผิดชอบที่มีไม่ได้ เราอาจจะต้องระงับกิจกรรมหรือนำออกจากเว็บไซต์ Airbnb Airbnb ไม่รับผิดชอบต่อความน่าเชื่อถือหรือความถูกต้องของข้อมูลในลิงค์ที่เชื่อมโยงไปยังเว็บไซต์ของบุคคลที่ 3 (รวมถึงลิงค์ต่างๆ ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบข้อบังคับ)

        ขั้นตอนการลงทะเบียนผู้เข้าพักชาวต่างชาติ

        เมื่อให้ชาวต่างชาติเช่าที่พัก เจ้าของที่พักต้องแจ้งสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองหรือที่ทำการตรวจคนเข้าเมืองในท้องที่ ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 38 หากท้องที่ใดไม่มีที่ทำการตรวจคนเข้าเมืองตั้งอยู่ ให้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ณ สถานีตำรวจที่มีเขตอำนาจครอบคลุมท้องที่นั้น

        โดยต้องแจ้งภายใน 24 ชั่วโมง นับตั้งแต่เวลาที่ชาวต่างชาติเข้าพักอาศัย ซึ่งทำได้ผ่าน 1 ใน 3 ช่องทางด้านล่างนี้:

        1. ออนไลน์

        เอกสารที่ต้องใช้กรอกแบบฟอร์มออนไลน์:

        1. สำเนาบัตรประจำตัวเจ้าของที่พักที่ลงลายมือชื่อรับรองเอกสารถูกต้อง (ขนาดไฟล์ต้องเล็กกว่า 1 MB)
        2. สำเนาทะเบียนบ้านที่ผู้เข้าพักจะเข้าพัก (ขนาดไฟล์ต้องเล็กกว่า 1 MB)
        3. สำเนาหน้าพาสปอร์ตของชาวต่างชาติที่แสดงหน้าข้อมูลบุคคลและตราประทับขาเข้า
        4. สำเนาหน้าวีซ่าหรือ ตม.6 บัตรขาเข้า
        5. สำเนาหลักฐานแสดงความเป็นเจ้าของหรือผู้ให้เช่าที่พัก (หมายเหตุ: โปรดติดต่อที่ทำการตรวจคนเข้าเมืองในท้องที่เกี่ยวกับประเภทเอกสารสำหรับแสดงความเป็นเจ้าของที่ต้องใช้โดยเฉพาะ ขนาดไฟล์ต้องเล็กกว่า 1 MB)
        6. แผนที่ที่พัก

        โปรดทราบว่าอาจมีข้อกำหนดเพิ่มเติมหากคุณไม่ใช่เจ้าของที่พัก

        ขั้นตอน:

        1. ลงทะเบียนบัญชีผู้ใช้ ต้องอัพโหลดเอกสาร ก, ข, จ และ ฉ ในขั้นตอนนี้
        2. รอจนการลงทะเบียนของคุณได้รับการตรวจสอบและอนุมัติ

          การลงทะเบียนครั้งเดียวนี้จะใช้เวลาอย่างน้อย 7 วันทำการ ขณะรออนุมัติก็แจ้งผ่านช่องทางอื่นได้เพื่อให้มีผลทันที เมื่อได้รับการอนุมัติแล้ว ก็ใช้บัญชีผู้ใช้นี้สำหรับการแจ้งครั้งต่อไปได้

          ตรวจสอบสถานะคำขอลงทะเบียนได้ที่นี่ หรือติดต่อเจ้าหน้าที่ในเวลาราชการ (08:00 น. - 17:00 น.) ได้ที่เบอร์ +66 92-354-0039

        3. เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้และรหัสผ่านที่คุณได้รับทางอีเมลที่ใช้ลงทะเบียน
        4. กรอกแบบฟอร์มการแจ้งทางออนไลน์ การดำเนินการขั้นตอนนี้ต้องใช้เอกสาร ค และ ง เพื่ออ้างอิง

        ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ในคู่มือของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเกี่ยวกับขั้นตอนการแจ้งทางออนไลน์ (เป็นภาษาไทย) โปรดทราบว่าระบบออนไลน์มักจะใช้ไม่ได้ในบางครั้ง จึงอาจต้องแจ้งผ่านหนึ่งในช่องทางด้านล่างนี้

        2. ไปรษณีย์ลงทะเบียน

        เอกสารที่ต้องใช้:

        1. แบบ ตม.30
        2. สำเนาบัตรประจำตัวเจ้าของที่พักที่ลงลายมือชื่อรับรองเอกสารถูกต้อง
        3. สำเนาหน้าพาสปอร์ตของชาวต่างชาติที่แสดงตราประทับขาเข้า
        4. สำเนาทะเบียนบ้านที่ชาวต่างชาติจะเข้าพัก
        5. สำเนาหน้าวีซ่าหรือ ตม.บัตรขาเข้า ตม.6 (ไม่ต้องส่ง แต่ต้องใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงเมื่อกรอกแบบ ตม. 30)
        6. สำเนาหลักฐานแสดงความเป็นเจ้าของหรือผู้ให้เช่าที่พัก (หมายเหตุ: โปรดติดต่อที่ทำการตรวจคนเข้าเมืองในท้องที่เกี่ยวกับประเภทเอกสารสำหรับแสดงความเป็นเจ้าของที่ต้องใช้โดยเฉพาะ)
        7. แผนที่ที่พัก

        โปรดทราบว่าอาจมีข้อกำหนดเพิ่มเติมหากคุณไม่ใช่เจ้าของที่พัก

        ขั้นตอน:

        1. กรอกแบบ ตม.30 โปรดดูภาคผนวกสำหรับวิธีกรอกแบบ ตม.30
        2. เตรียมซองขนาด 6.5 x 9 นิ้วพร้อมติดแสตมป์ 10 บาท และจ่าหน้าซองถึงตัวคุณเอง เจ้าหน้าที่จะใช้ซองจดหมายนี้เพื่อส่งใบรับแจ้งคืนให้คุณ
        3. นำเอกสารจากขั้นตอนที่ 1 และ 2 พร้อมเอกสาร ข ค ง และ ฉ ใส่ซองจดหมาย ส่งไปรษณีย์ไปยังที่ทำการตรวจคนเข้าเมืองในท้องที่ที่ผู้เข้าพักชาวต่างชาติเข้าพัก

          หากที่พักอยู่ในกรุงเทพฯ โปรดส่งแบบฟอร์มไปที่:

          งานแจ้งที่พักอาศัยบุคคลต่างด้าว กองกำกับการ 2 กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1 สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เลขที่ 120 หมู่ 3 ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210 ประเทศไทย

        โปรดทราบว่าต้องส่งจดหมายแบบลงทะเบียน ณ ที่ทำการไปรษณีย์ โปรดเก็บใบเสร็จไว้เผื่อจำเป็นต้องใช้เป็นหลักฐานในภายหลัง

        3. แจ้งด้วยตนเองหรือผ่านผู้รับมอบอำนาจ

        เอกสารที่ต้องใช้:

        1. แบบการแจ้งรับชาวต่างชาติเข้าพักอาศัย (ตม.30)
        2. สำเนาบัตรประจำตัวเจ้าของที่พักที่ลงลายมือชื่อรับรองเอกสารถูกต้อง
        3. สำเนาหน้าพาสปอร์ตของชาวต่างชาติ
        4. สำเนาหน้าวีซ่าหรือ ตม.บัตรขาเข้า ตม.6 (ไม่ต้องส่ง แต่ต้องใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงเมื่อกรอกแบบ ตม. 30)
        5. สำเนาทะเบียนบ้านที่ชาวต่างชาติจะเข้าพัก
        6. สำเนาหลักฐานแสดงความเป็นเจ้าของหรือผู้ให้เช่าที่พัก (หมายเหตุ: โปรดติดต่อที่ทำการตรวจคนเข้าเมืองในท้องที่เกี่ยวกับประเภทเอกสารสำหรับแสดงความเป็นเจ้าของที่ต้องใช้โดยเฉพาะ)
        7. แผนที่ที่พัก
        8. หนังสือมอบอำนาจ (ต้องใช้เมื่อมอบหมายให้ตัวแทนส่งเอกสารแทนเท่านั้น)

        ขั้นตอน:

        1. กรอกแบบ ตม.30 โปรดดูภาคผนวกสำหรับวิธีกรอกแบบ ตม.30
        2. ส่งเอกสาร ก ข ค จ ฉ และ ช (หากต้องใช้) ไปยังที่ทำการตรวจคนเข้าเมืองในท้องที่ที่ผู้เข้าพักชาวต่างชาติเข้าพัก

          หากที่พักอยู่ในกรุงเทพฯ โปรดส่งแบบฟอร์มไปที่:

          ช่องบริการแจ้งที่พักอาศัย (ตม.30) กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1 สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เลขที่ 120 หมู่ 3 ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210 ประเทศไทย

          (วลาทำการ: 08:00 น. - 17:00 น. แต่คุณต้องมาถึงที่ทำการก่อน 15:30 น. เพื่อขอนัดหมาย)

        เคล็ดลับน่ารู้

        การกรอกแบบแจ้งรับคนต่างด้าวเข้าพักอาศัย สำหรับเจ้าบ้าน เจ้าของ หรือผู้ครอบครองเคหสถาน (ตม.30) ด้วยตนเองและไปรษณีย์ลงทะเบียน

        แบบแจ้งรับคนต่างด้าวเข้าพักอาศัย สำหรับเจ้าบ้าน เจ้าของ หรือผู้ครอบครองเคหสถาน (ตม.30) ประกอบด้วยเอกสาร 2 ส่วน ส่วนแรกต้องกรอกข้อมูลเจ้าบ้าน เจ้าของ หรือผู้ครอบครองเคหสถาน ส่วนที่ 2 ต้องกรอกข้อมูลของชาวต่างชาติที่จะเข้าพักในที่พัก

        โปรดกรอกข้อมูลที่จำเป็นทั้งหมดให้ตรงกับข้อมูลบนพาสปอร์ตของชาวต่างชาติในส่วนที่ 2 โดยพิมพ์หรือเขียนเป็นตัวอักษรพิมพ์ใหญ่ให้ชัดเจน ข้อพึงระวังในการกรอกข้อมูล:

        1. เว้นช่องว่างระหว่างชื่อ ชื่อกลาง และนามสกุล
        2. หากมีตัวอักษรนำหน้าหรือตามหลังเลขพาสปอร์ต ให้กรอกตัวอักษรนั้นลงไปด้วย
        3. กรอกเลขที่บัตรขาเข้า (ตม. 6) ลงในช่องที่เว้นไว้ให้ บัตรขาเข้าจะเย็บติดไว้ในพาสปอร์ต ต้องกรอกทั้งตัวอักษรและเลขที่บัตรขาเข้า
        4. วันเดินทางเข้าหมายถึงวันที่ชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทย ต้องกรอกวันที่เข้าพักในหน้าแรกของใบแจ้งรับ

        หลังจากเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบตรวจสอบและยอมรับข้อมูลในใบแจ้งรับแล้ว (ตม. 30) ก็จะคืนส่วนล่างของแบบฟอร์มให้ผู้แจ้ง ซึ่งต้องเก็บไว้เพื่อตรวจสอบต่อไป

        หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม โปรดติดต่อ +662-141-7881

        กลับไปด้านบน

        บทความนี้มีประโยชน์ไหม?
        ขอความช่วยเหลือเกี่ยวกับการจอง บัญชีผู้ใช้ และอื่นๆ
        เข้าสู่ระบบหรือลงทะเบียน